Technical SEO คืออะไร ไขข้อข้องใจจบที่นี่
Technical SEO คือเทคนิคที่นำมาใช้ปรับแต่งเว็บไซต์ อาจต้องใช้ทักษะในการเขียนโปรแกรม (Coding) หรือการปรับแต่ง Server ผนวกเข้ามาด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือค้นหาสามารถพบและรวบรวมข้อมูลหน้าทั้งหมดบนเว็บไซต์ได้อย่างง่าย
ขอยกตัวอย่างเทคนิคที่ควรทำ เช่น ความเร็วในการโหลดไซต์ (Loading Speed) การเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Optimization) เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นดังนี้
ความเร็วในการโหลดเว็บไซต์
เว็บที่โหลดเร็วหมายถึงคนเข้าเว็บสามารถใช้งานเว็บคุณได้อย่างไหลลื่น รวดเร็ว ส่งผลให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจ (Conversion) เช่น การขายของออนไลน์ และอื่นๆ สูงขึ้นด้วย เสิร์ชเอนจินเองก็ชอบเว็บโหลดเร็วและมักให้รางวัลเป็น Ranking ที่ดี
Google ได้สร้างเครื่องมือที่ให้คำแนะนำทางเทคนิคเพื่อแก้ไขปัญหาความเร็วไว้ ใช้กันได้ฟรีๆ ครับ
อัลกอริธึมของ Google ให้ความสำคัญกับมือถือเป็นหลัก (Mobile First Indexing) หมายความว่าถ้าเว็บคุณโหลดได้เร็วบนเดสก์ท็อป แต่โหลดช้าบนมือถือ Google จะถือว่าไซต์ของคุณช้า คำแนะนำที่ PageSpeed Insight ให้ไว้นั้นค่อนข้างละเอียดทั้งในอุปกรณ์เคลื่อนที่และเดสก์ท็อป แนะนำว่าแก้ให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ครับ
ถ้าคุณอยากได้มุมมองทางเทคนิกอื่นๆ ขอแนะนำอีก 2 เครื่องมือที่นิยมใช้กัน คือ GTMetrix, และ webpagetest.org ตัวหลังนี้มีดีที่มี Server ที่กรุงเทพด้วย ถ้าเว็บเซิร์ฟเวอร์คุณอยู่ในไทย ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์จะมีความถูกต้องสูง
การเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Optimization)
อย่างที่บอกไปแล้วว่าเว็บเวอร์ชั่นมือถือนั้นสำคัญที่สุด คุณสามารถใช้ Google Search Console เช็คดูว่าเว็บคุณมีปัญหาอะไรที่ต้องแก้
หากคุณพบว่าเว็บไซต์ของคุณมีปัญหาการแสดงผลที่ไม่เหมาะกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ แนะนำให้จัดลำดับความสำคัญสูงที่สุดและแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เสร็จโดยเร็ว
ปรับ HTTP ให้ปลอดภัยน่าเชื่อถือ
ในปี 2014 Google ได้ประกาศให้ HTTPS มีผลกระทบต่อ Ranking ตอนนั้นมีเว็บผลกระทบต่อเว็บไซต์น้อยกว่า 1% ของเว็บทั่วโลก ต่อมาได้ขยับให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเว็บมากขึ้นเรื่อยๆ ณ ปัจจุบันกูเกิ้ลได้แสดงคำเตือนผู้ใช้ก่อนที่จะเข้าชมเว็บที่ไม่ได้ติดตั้ง SSL
และแสดงคำเตือน “ไม่ปลอดภัย (Not secure)” ใน Chrome อีกด้วย
จะเห็นว่าถ้าเว็บคุณดูไม่ปลอดภัย อาจสร้างความไม่น่าเชื่อถือและอาจทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไปบางส่วนได้ แนะนำให้ติดตั้ง HTTPS ครับ เสียค่าใช้จ่ายรายปีนิดหน่อย แบบฟรีก็มีแต่อาจมีข้อจำกัดบาง การติดตั้งก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร
XML Sitemap
แผนผังเว็บไซต์ XML หรือ XML Sitemap คือรายการที่มีโครงสร้างเว็บไซต์ มีหน้าทั้งหมดในเว็บไซต์อยู่ในไฟล์ XML ช่วยให้ Google เข้าใจไซต์ของคุณและค้นหาเนื้อหาทั้งหมดได้สะดวกขึ้น
ตัวอย่างแผนผังเว็บไซต์ XML:
หากคุณไม่แน่ใจว่าจะสร้างแผนผังเว็บไซต์อย่างไรและเว็บไซต์ของคุณใช้ WordPress คุณสามารถสร้างแผนผังเว็บไซต์ง่ายๆ ด้วยปลั๊กอิน เช่น Google XML Sitemap Generator ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างแผนผังเว็บไซต์ XML โดยเฉพาะ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเว็บ เช่น สร้างหน้าเพจใหม่ เป็นต้น ควรแจ้งให้ Google รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วยการส่ง XML Sitemap ใน Google Search Console (GSC)
- คลิกที่เมนู Sitemaps
- ใส่ XML Sitemap และกดปุ่ม Submit
- ถ้ามีจุดผิดพลาด (Syntax Error) ในแผนผังเว็บไซต์ของคุณ GSC จะแจ้งให้คุณรู้ (ดูเลข 3 ในรูปด้านบน) ให้คลิกดูรายละเอียดเพิ่่มเติมที่ลิงก์ Errors แล้วก็แก้ตามนั้น
URL Friendly SEO
Webmaster บางคนสร้างเว็บเพจใช้ URL แปลกๆ เช่น
http://website.com/bcca/index.php/MzB8fHJlZy9yZXBzdHVkZW50dGltZXRhYmxlL2luZGV4Mw
URL ในลักษณะนี้คนอ่านไม่เข้าใจ เครื่องมือค้นหาอ่านก็งง
คำแนะนำในการสร้าง URL ที่ถูกจริตกับ SEO
- ออกแบบและใช้โครงสร้าง URL ที่คงเส้นคงวา – เช่น หากคุณมี URL ของหมวดหมู่กาแฟ เช่น website.com/coffee ก็ควรที่จะใส่หน้าที่เกี่ยวกับกาแฟทั้งหมดภายใต้หมวดหมู่นี้ แต่ถ้านำเพจเกี่ยวกับข้าวผัดกระเพรามาใส่คงไม่เหมาะ
- ใส่คีย์เวิร์ดหลักลงไปเป็นส่วนหนึ่งของ URL ด้วย แต่ควรระวังอย่าใส่มากไป จนเข้าข่าย keyword stuffing ล่ะ
- URL สั้น – มักทำอันดับได้ดีกว่ายาวๆ
สรุปสั้นๆ ว่า URL ควรอ่านแล้ว ได้ใจความ กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ อย่าลืมใส่คีย์เวิร์ดหลักลงไปด้วย
Robots.txt, Meta NoIndex, & Meta NoFollow
คุณสามารถบอกเสิร์ชเอ็นจิ้นว่าคุณต้องการให้เนื้อหาในเว็บไซต์ของคุณถูกจัดการแบบไหน อย่างไร เช่น หากคุณไม่ต้องการให้ข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของเว็บไซต์เข้าถึงโดยบอท คุณสามารถใช้ไฟล์ robots.txt เพื่อระบุความต้องการให้เสิร์ชเอนจิ้นรู้
ตัวอย่างแสดงการบล็อก (Disallow) บอทไม่ให้เข้าถึงแฟ้มชื่อ secret ในเซิร์ฟเว่อร์
User-agent: *
Allow: /
Disallow: /secret/
คำเตือน: แนะนำให้คุณศึกษาการใชังาน robots.txt ให้เข้าใจก่อน ไม่อย่างนั้นอาจพลาดพลั้งไปบล็อกผิดส่วน ส่งผลให้บางส่วนหรือทั้งเว็บไซต์ถูกเอาออกจากฐานข้อมูล Google ได้
นอกจากไฟล์ robots แล้ว คุณยังสามารถใช้เมตาแท็ก robots (robot meta tags) ในการบล็อกเนื้อหาเป็นหน้าๆ ไป ออกจากดัชนีเครื่องมือค้นหาได้
ในโพสต์นี้ขอแตะคร่าวๆ ไว้เท่านี้ก่อนแล้วกันครับ วันหน้าถ้ามีโอกาสจะมาเจาะลึกเทคนิคการปรับแต่งเว็บให้แรงส์เป็นที่ถูกใจของ Google และเครื่องมือค้นหาอื่นๆ ให้ได้อ่านกันในรายละเอียด